Nuclear Abolition News and Analysis

Reporting the underreported threat of nuclear weapens and efforts by those striving for a nuclear free world.
A project of The Non-Profit International Press Syndicate Group with IDN as flagship agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative
status with ECOSOC.

logo_idn_top
logo_sgi_top

Watch out for our new project website https://www.nuclear-abolition.com/

About us

TOWARD A NUCLEAR FREE WORLD was first launched in 2009 with a view to raising and strengthening public awareness of the urgent need for non-proliferation and ushering in a world free of nuclear weapons. Read more

IDN Global News

A Warrior for Nuclear Peace Dies But His Message Reverberates – Thai

นักรบเพื่อสันติภาพนิวเคลียร์สิ้นใจ แต่สารของเขาดังก้อง

มุมมองจากโจนาธาน พาวเวอร์*

เมืองลุนด์ ประเทศสวีเดน – นายบรูซ แบลร์ หนึ่งในวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ที่ปิดทองหลังพระในยุคระเบิดนิวเคลียร์ เสียชีวิตลงด้วยวัย 72 ปี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม ในช่วงที่เขาอายุ 20 ปี เขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่ปล่อยจรวดนิวเคลียร์ข้ามทวีป โดยใช้เวลาทั้งวันทั้งคืนอยู่ในหลุมหลบภัยลึกใต้ดินเพื่อรอสัญญาณยิงและทำลายเมืองรวมถึงผู้คน คนงานทุกชนชั้น ผู้รับบำนาญที่อยู่ในเมืองนั้น และเด็กไร้เดียงสาในรัสเซียตะวันตก

เดอะนิวยอร์กไทม์ ระบุในข่าวการเสียชีวิตว่า “เขาออกโรงเตือนเรื่องการเริ่มโจมตีด้วยนิวเคลียร์
ว่าทำได้ง่ายดายเพียงใด รวมถึงเตือนเรื่องการป้องกันที่ไม่เพียงพอ นายบรูซ แบลร์ เป็นผู้นำ
ในการควบคุมอาวุธนิวเคลียร์ โดยผลักดันให้ประเทศต่าง ๆ ปรับใช้นโยบายการไม่เป็น
ฝ่ายเริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน

เขาได้ไปประจำการใกล้ฐานทัพอากาศมัลม์สตรอม ในรัฐมอนแทนา เพื่อรับผิดชอบขีปนาวุธ
ข้ามทวีปมินิตแมน 50 รายการ โดยแต่ละรายการติดตั้งหัวอาวุธนิวเคลียร์ที่ทรงอานุภาพมากกว่าระเบิดปรมาณูซึ่งถล่มเมืองฮิโรชิมาในปี 1945 ถึง 100 เท่า ประสบการณ์ดังกล่าว “แสดงให้ผมเห็นถึงความเร็วที่กระบวนการนี้แผ่ขยายออกไป และทำให้ผมเห็นถึงการไม่มีพื้นที่ให้ตั้งคำถามกับคำสั่งยิงเลยจริง ๆ” เขากล่าวกับ พรินซ์ตัน อลัมไน วีคลีย์ (PrincetonAlumniWeekly) ในปี 2018

ในความโกลาหลทั้งปวงตลอดช่วงไวรัสโคโรนา ข้อสังเกตที่ว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ชายผู้กลับกลอก เหลาะแหละ และเจ้าอารมณ์อย่างเห็นได้ชัด สั่งยิงอาวุธนิวเคลียร์
ในช่วงเวลาที่เกิดปัญหาและความไม่สงบทางการเมือง กลับเกิดขึ้นไม่บ่อยนักหรือไม่มีเลยในสภาคองเกรสหรือสื่อต่าง ๆ

ประชาชนอเมริกันดูเหมือนจะปิดหูปิดตากับการสู้รบครั้งใหญ่ที่อาจเกิดขึ้นทั้งจากการยิงขีปนาวุธโดยไม่คาดคิดหรือจากความโง่เขลาของประธานาธิบดี ในทางทฤษฎีและทางกฎหมาย ทั้งสภาคองเกรสและกองทัพไม่สามารถขัดขวางประธานาธิบดีไม่ให้สั่งยิงขีปนาวุธ แม้จินตนาการได้ยากว่ากองทัพไม่มีแผนลับสำหรับสถานการณ์ที่ไม่คาดคิด เพื่อหยุดยั้งคำสั่งของประธานาธิบดีผู้มีความบกพร่องทางจิตใจ

มีเวลาเพียงประมาณ 5 นาทีเพื่อให้ประธานาธิบดีตัดสินใจหลังจากได้รับแจ้งเกี่ยวกับขีปนาวุธ
ที่ใกล้เข้ามา และ 12 นาทีระหว่างการออกคำสั่งโจมตีกับการยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ที่ไม่สามารถยกเลิกได้ นายแบลร์แสวงหาวิธียื้อเวลาในการตัดสินใจเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งจำเป็นในการตอบสนองต่อภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งคือ ในปี 1977 เขาชักชวนให้กองทัพอากาศแก้โปรแกรม “รหัสปลดล็อก” ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้ป้องกันขีปนาวุธมินิตแมน การล็อกทั้งหมดเดิมตั้งไว้ที่ “00000000” เพื่อให้ลูกเรือจำได้ง่ายขึ้น ช่างเป็นเรื่องที่บ้าคลั่งเสียจริง เพราะนั่นช่วยให้เจ้าหน้าที่ยิงขีปนาวุธผู้คิดร้ายหรือกลับกลอกสามารถยิงจรวดได้โดยไม่ต้องมีคำสั่ง นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้แยกหัวรบออกจากขีปนาวุธด้วย

นายแบลร์ไม่ใช่คนนอก พลทหาร หรือผู้ดูแลที่อ่อนแอ เขาทำงานและให้การสนับสนุนภายในกองทหารประจำการ แต่ด้วยวิธีที่ไม่ขึ้นกับใคร ในช่วงปี 1982 ถึง 1985 เขาควบคุมการตรวจสอบคำสั่งนิวเคลียร์ของกองทัพสำหรับสำนักงานรัฐสภาว่าด้วยการประเมินเทคโนโลยี และในช่วงปี 1987 ถึง 2000 เขาเป็นนักวิชาการอาวุโสด้านการศึกษานโยบายต่างประเทศที่สถาบันบรูคกิงส์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ดูแลด้านนโยบายต่างประเทศและผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ โดยเจ้าหน้าที่หลายคนดำรงตำแหน่งทางราชการในระดับสูงสุด

เขากลัวว่าระบบการควบคุมและการป้องกันของสหภาพโซเวียตจะหละหลวมกว่าของอเมริกาด้วยซ้ำ
ในบทความของ เดอะนิวยอร์กไทมส์ ในปี 1993 เขาเตือนถึงระบบวันโลกาวินาศของโซเวียตที่สามารถปล่อยนิวเคลียร์ตอบโต้โดยอัตโนมัติ แม้ว่าหน่วยบัญชาการทางทหารของมอสโกจะราบคาบไปแล้ว
ในอีกโอกาสหนึ่ง บรูซ แบลร์ ให้สัมภาษณ์กับรายการโทรทัศน์ “Frontline” ของ PBS ว่า “เราต้องยอมรับว่าความท้าทายหลักที่เราเผชิญในวันนี้ไม่ใช่การป้องปราม แต่เป็นการควบคุมที่ล้มเหลว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัสเซีย”

เมื่อสามปีที่แล้ว เขาเขียนระบุในเดอะนิวยอร์กไทม์อีกครั้ง โดยเตือนว่าอาจจะมีแฮกเกอร์จากภายนอกฉวยโอกาสควบคุมระบบขีปนาวุธของอเมริกา

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญและนักวิจารณ์นโยบายนิวเคลียร์ของอเมริกากลุ่มย่อม ๆ รวมถึงนายแบลร์และอดีตนายทหารระดับสูงบางคนมีผลในการผลักดันให้เกิดการปฏิรูปที่มีเสถียรภาพ ซึ่งได้แก่ระบบสั่งการและระบบควบคุมที่ยืดหยุ่นมากขึ้น และการลดความสำคัญของระบบนิวเคลียร์ที่สร้างความเสี่ยงร้ายแรงที่สุดต่อความไม่มั่นคงในระยะวิกฤต

นายไมเคิล โอแฮนลอน นักวิจัยอาวุโสแห่งบรูคกิงส์ กล่าวยกย่องนายแบลร์ในเว็บไซต์ของสถาบันบรูคกิงส์ โดยอธิบายว่าแบลร์เป็นชายที่ “แบกโลกทั้งใบไว้บนบ่าของตน” นายโอแฮนลอนเขียนว่า “ในหลาย ๆ ช่วงเวลาที่น่าหดหู่ใจอย่างยิ่ง เขาแบกภาระรับผิดชอบต่อปัญหาที่เขาพยายามต่อสู้อย่างหนักหน่วงเรื่อยมา และความจริงจังรับผิดชอบอย่างที่สุดเพื่อพยายามช่วยมนุษยชาติให้รอดพ้นจากปัญหาที่ก่อขึ้น”

ผลงานสำคัญของนายแบลร์ “คำสั่งการและการควบคุมทางยุทธศาสตร์: นิยามใหม่ของภัยคุกคามจากนิวเคลียร์” เป็นหนึ่งในหนังสือที่สำคัญที่สุดเพียงไม่กี่เล่มในการศึกษานโยบายต่างประเทศที่เคยตีพิมพ์โดยบรูคกิงส์ อนึ่ง จากการคาดการณ์ทุกสิ่งที่อาจผิดพลาดเมื่อระบบอิเล็กทรอนิกส์มีข้อบกพร่องและเปราะบางเทียบกับผู้ปฏิบัติงานและองค์กรที่มีข้อบกพร่องมากยิ่งกว่า เขาแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า
ภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ที่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดนั้น มีมากยิ่งกว่าที่หลายคนตระหนักหรืออยากจะเชื่อ

นายโอแฮนลอนยังเขียนอีกว่า “ในภายหลัง นายแบลร์มีส่วนร่วมอย่างมากในขบวนการปลดอาวุธนิวเคลียร์ โกลบอลซีโร (Global Zero) เพราะเขาตระหนักใน ‘ความจำเป็นเร่งด่วนในตอนนี้’ ซึ่งเป็นคำพูดของนายมาร์ติน ลูเธอร์ คิง โดยนายแบลร์ตั้งข้อคิดว่าหากคนรุ่นตนไม่ทำอะไรให้มากขึ้นเพื่อลดอันตรายจากนิวเคลียร์ คนรุ่นต่อ ๆ ไปอาจไม่มีชีวิตรอดและไม่มีแม้กระทั้งโอกาสที่จะได้ทำเช่นนั้น
การเคลื่อนไหวดังกล่าวและแนวคิดอื่น ๆ ของนายบรูซเป็นเรื่องที่สร้างความตื่นตัว ซึ่งบางครั้งก็ขัดแย้งกับสิ่งที่ทำได้จริงในโลกปัจจุบัน

แม้ว่านายบรูซจะอาศัยอยู่ในวอชิงตันเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่ได้ผูกพันกับสถานที่แห่งนี้มากนัก แต่ยินดีที่จะมุ่งมั่นลงมือในขั้นตอนที่สร้างการเปลี่ยนแปลงเมื่อเผชิญกับความท้าทายอันยิ่งใหญ่ เขาคิดการใหญ่
และต้องการแก้ปัญหา หรืออย่างน้อยก็สิ่งที่เขามองเห็นว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุด นั่นคือ มีความเป็นไปได้ที่มนุษยชาติจะทำลายล้างตนเองโดยการก่อภัยพิบัติร้ายแรงด้วยนิวเคลียร์”

* หมายเหตุ: ลิขสิทธิ์ โจนาทาน พาวเวอร์ เว็บไซต์: www.jonathanpowerjournalist.com ผู้เขียนเป็นนักเขียนบทความและนักวิจารณ์ด้านการต่างประเทศของอินเตอร์เนชันแนล เฮอรัลด์ ทริบูน เป็นเวลา 17 ปี [IDN-InDepthNews – 28 กรกฎาคม 2563]

ภาพถ่าย: บรูซ แบลร์, เครดิต: แมตต์ สแตนลีย์, mattstanleyphoto.com

Search

Newsletter

Report & Newsletter

Toward a World Without Nuclear Weapons 2022

Scroll to Top