Nuclear Abolition News and Analysis

Reporting the underreported threat of nuclear weapens and efforts by those striving for a nuclear free world.
A project of The Non-Profit International Press Syndicate Group with IDN as flagship agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative
status with ECOSOC.

logo_idn_top
logo_sgi_top

Watch out for our new project website https://www.nuclear-abolition.com/

About us

TOWARD A NUCLEAR FREE WORLD was first launched in 2009 with a view to raising and strengthening public awareness of the urgent need for non-proliferation and ushering in a world free of nuclear weapons. Read more

IDN Global News

Global Civil Society Demands Bolder Action from NPT States Parties – THAI

ประชาคมโลกเรียกร้องให้มีการกระทำที่หนักแน่นยิ่งขึ้นจากรัฐภาคีของสนธิสัญญาการไม่แพร่ขยายอาวุธ (NPT)

โดย Jamshed Baruah

เจนีวา (IDN) – เครือข่ายที่หลากหลายขององค์กรนอกภาครัฐเพื่อความสงบสุขและการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับชาติและระหว่างประเทศได้เรียกร้องในแถลงการณ์ร่วม ให้ผู้นำรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และพันธมิตร ดำเนินการอย่างเร่งด่วนและให้ความร่วมมือมากขึ้นตามสัญญาที่ยังไม่บรรลุผลว่าด้วยการลดความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์และสร้างความคืบหน้าในการปลดอาวุธ รวมทั้งตระหนักถึงความมุ่งมั่นของตนที่มีต่อ “การกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง” แถลงการณ์นี้เกิดขึ้นวันที่ 11 พฤษภาคม ซึ่งตรงกับวันครบรอบ 25 ปีของการขยายระยะเวลาของสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด

งานครบรอบดังกล่าวถูกเลื่อนออกไปหลังจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 จากข้อมูลขององค์กร 84 แห่งที่ได้รับรองแถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่าการเลื่อนการประชุมเพื่อตรวจสอบสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (NPT) ประจำปี 2563 ออกไป เป็นการมอบ “โอกาสที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในการเปลี่ยนทิศทางปัจจุบัน ก้าวไปไกลกว่าการเมืองแบบองุ่นเปรี้ยว และมุ่งเน้นความพยายามให้เกิดการยุติอาวุธนิวเคลียร์” โดยองค์กรเหล่านั้นเรียกร้องให้รัฐภาคี NPT และประชาคมนานาชาติใช้ประโยชน์จากเวลาที่เพิ่มขึ้นมานี้อย่างชาญฉลาด

แถลงการณ์ร่วมเกิดขึ้น ณ เวลาที่เป็นจุดสำคัญในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ ปี 2563 อันนับเป็นเวลา 75 ปีมาแล้วตั้งแต่สหรัฐอเมริกาทิ้งระเบิดปรมาณูที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ

เมื่อปลายปี 2488 ประชาชนมากกว่า 210,000 คนเสียชีวิตจากการทิ้งระเบิดดังกล่าวโดยส่วนใหญ่เป็นพลเรือน แต่เหยื่อผู้รอดชีวิตจากระเบิดนิวเคลียร์ (ฮิบาคุชา) รวมถึงลูกหลานของคนเหล่านี้ยังคงต้องทนทุกข์กับผลกระทบทั้งทางกายและทางใจที่เกิดจากระเบิดดังกล่าว เช่นเดียวกับประชาชนจากคาบสมุทรเกาหลีที่ตกเป็นเหยื่อของการทิ้งระเบิดปรมาณูเช่นกัน

อาวุธนิวเคลียร์ทำให้มีผู้เสียหายในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การพัฒนา การทดสอบ ไปจนถึงการใช้งาน ชนพื้นเมืองได้รับผลกระทบโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากการทดสอบนิวเคลียร์และการขุดแร่ยูเรเนียม อีกทั้งการแผ่รังสีก็มีผลกระทบที่ไม่สมส่วนเชิงเพศภาวะ ความเสียหายที่เกิดจากอาวุธนิวเคลียร์นั้นไม่มีพรมแดนระหว่างประเทศ

องค์กรภาคประชาสังคมเน้นย้ำว่า การทิ้งระเบิดสองลูกที่ฮิโรชิมาและนางาซากิเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 นั้นมีขนาดเล็กและเป็นเพียงหยาบ ๆ เมื่อเทียบกับมาตรฐานในปัจจุบัน ศักยภาพของอาวุธนิวเคลียร์ในปัจจุบันนั้นร้ายแรงกว่ามาก ยิ่งไปกว่านั้น การลดจำนวนอาวุธนิวเคลียร์มีผลลัพธ์ที่ด้อยลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งถูกแทนที่ด้วยการแข่งขันใหม่โดยมีเงินทุนสนับสนุนมากเกินควร สำหรับพัฒนาขีดความสามารถแบบใหม่และหลากหลายในการปลดปล่อยความหายนะจากนิวเคลียร์

ในปี 2553 รัฐภาคี NPT เห็นพ้องกันโดยมีฉันทามติให้ลดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ในกลยุทธ์ความมั่นคง สิบปีต่อมา กลับเกิดสิ่งที่ตรงกันข้ามขึ้น กล่าวคือ บทบาทนั้นได้ขยายออกไป และไม่เพียงแต่โดยรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงพันธมิตรที่ให้การสนับสนุน ซึ่งเรียกว่ารัฐ “ที่อยู่ภายใต้ความคุ้มครองจากรัฐที่ครอบครองนิวเคลียร์”

รัฐภาคีชี้ให้เห็นว่า ความเสี่ยงใหม่นั้นเพิ่มความเร่งด่วนที่ต้องกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่ รวมถึงศักยภาพในโลกไซเบอร์เชิงรุกราน และปัญญาประดิษฐ์ เมื่อรวมเข้ากับแผนปรับปรุงใหม่ด้านนิวเคลียร์แล้วก็เพิ่มความเสี่ยงขึ้นเช่นกัน ขนาดและจังหวะของเกมสงครามจากรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และพันธมิตร รวมถึงการฝึกซ้อมด้านนิวเคลียร์กำลังเพิ่มขึ้น การทดสอบขีปนาวุธที่ยังคงดำเนินอยู่ และการเผชิญหน้าอย่างใกล้ชิดระหว่างกองกำลังทหารของรัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ทำให้อันตรายจากนิวเคลียร์รุนแรงขึ้น

จากข้อมูลของคณะกรรมการรณรงค์เพื่อยกเลิกอาวุธนิวเคลียร์ระหว่างประเทศ (ICAN) ที่ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปี 2560 ระบุว่าหัวรบ 13,865 ลูกกำลังคุกคามโลก โดยในจำนวนนี้มีห้าประเทศที่ครอบครองหัวรบมากที่สุดนั่นคือ รัสเซีย (6,500) สหรัฐอเมริกา (6,185) ฝรั่งเศส (300) จีน (290) และสหราชอาณาจักร (200) และสี่ประเทศที่ครอบครองหัวรบในจำนวนรองลงมาคือปากีสถาน (150-160) อินเดีย (130-140) อิสราเอล (80-90) และเกาหลีเหนือ (20-30) นอกจากนี้ ยังมีอีกห้าประเทศที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐอเมริกา ได้แก่ อิตาลี (80) ตุรกี (50) เบลเยียม (20) เยอรมนี (20) และเนเธอร์แลนด์ (20)

ประเทศอื่น ๆ อีก 26 แห่งก็ “รับรอง” ให้มีการครอบครองและใช้อาวุธนิวเคลียร์เช่นกัน โดยอนุญาตให้สามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ในนามของตนในฐานะส่วนหนึ่งของพันธมิตรด้านกลาโหม ซึ่งรวมถึงองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) และองค์การสนธิสัญญาความมั่นคงร่วม (CSTO)

การสอบสวนครั้งใหม่เปิดเผยว่ารัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ 9 แห่งใช้จ่ายด้านอาวุธนิวเคลียร์มากกว่า 13,000 รายการเป็นเงิน 7.29 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2562 ซึ่งแปลความได้ว่าทุก ๆ นาทีในปี 2562 มีการใช้จ่ายเงิน 138,699 ดอลลาร์ไปกับอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งรวมแล้วเพิ่มขึ้นจากปี 2561 เป็นเงิน 7.1 พันล้านดอลลาร์

ดังนั้น แถลงการณ์ร่วมครั้งนี้จึงเป็นการเรียกร้องให้รัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์พักโครงการที่ตั้งขึ้นเพื่อสร้างอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ๆ ระบบปล่อยอาวุธนิวเคลียร์แบบใหม่ หรือส่วนประกอบที่สำคัญของอาวุธเหล่านั้น เมื่อรวมกับการตัดสินใจถอนรากถอนโคนแผนการยิงเตือนในเชิงนโยบาย การยุติโครงการปฏิรูปความทันสมัยอาจเป็นจุดเริ่มต้นในการลดความเสี่ยง เนื่องจากเป็นการกำจัดบทบาทของอาวุธนิวเคลียร์ออกจากกลยุทธ์และหลักการด้านความมั่นคงระดับชาติและระดับภูมิภาค

องค์กรภาคประชาสังคมยังคงยึดมั่นว่า การกำจัดความเสี่ยงที่มาจากอาวุธนิวเคลียร์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิงจะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมีการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์จนหมดไปเท่านั้น โดยขอให้รัฐภาคี NPT ทั้งหมดให้คำมั่นว่าจะพักการพัฒนาขีดความสามารถด้านอาวุธนิวเคลียร์ใหม่ ๆ และช่วยหยุดการแข่งขันครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ รวมถึงยุติบทบัญญัติที่เป็นการให้ความช่วยเหลือหรือส่งเสริมการพัฒนาขีดความสามารถใหม่ ๆ ไม่ว่าในรูปแบบใดก็ตาม

แถลงการณ์ดังกล่าวร่างโดย Ray Acheson (WILPF), John Burroughs (Lawyers Committee on Nuclear Policy), Jacqueline Cabasso (Western States Legal Foundation), Akira Kawasaki (Peace Boat), Daryl Kimball (Arms Control Association), Allison Pytlak (WILPF), Alicia Sanders-Zakre (ICAN), Susi Snyder (PAX) และ Carlos Umana (IPPNW)

โดยแถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า “สภาพแวดล้อมเช่นนี้เรียกร้องให้ทุกรัฐดำเนินการอย่างหนักแน่นยิ่งขึ้นในการลดความเสี่ยงด้านนิวเคลียร์ด้วยการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งการกระทำดังกล่าวมีต้นเหตุมาจากความกังวลอย่างลึกซึ้งถึงผลพวงอันเป็นหายนะด้านมนุษยธรรมที่เกิดจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์”

องค์กรภาคประชาสังคมได้ผลักดันสารสำคัญสามประการไปยังรัฐภาคี NPT ดังต่อไปนี้

  1. การสนับสนุนทั่วโลกสำหรับ NPT มีความเข้มแข็ง แต่การนำไปปฏิบัติในระยะยาวต้องไม่ถูกละเลย
  2. สถานะความสัมพันธ์ทั่วโลกที่ตึงเครียดความเสี่ยงจากความขัดแย้งด้านนิวเคลียร์และการแข่งขันกันสะสมอาวุธที่เพิ่มขึ้นเรียกร้องให้ประเทศที่รับผิดชอบต้องมีภาวะความเป็นผู้นำแบบใหม่และหนักแน่นยิ่งขึ้น
  3. ผู้ที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงยังกล่าวด้วยว่าสภาพแวดล้อมไม่เหมาะกับการดำเนินการต่อไป แต่ผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบทุกแห่งหนกำลังเผชิญความท้าทายที่เพิ่มขึ้น

โลกไม่อาจรอจนกระทั่งสภาพแวดล้อม “เหมาะสม” ต่อการปลดอาวุธได้ เป็นความจริงที่ว่าความสำเร็จในการป้องกันและแก้ไขความขัดแย้ง การควบคุมขีดความสามารถทางทหารที่ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ การปกป้องสิทธิมนุษยชน การปกป้องสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และความพยายามที่สำคัญอื่น ๆ จะช่วยอำนวยให้เกิดการปลดอาวุธนิวเคลียร์ได้

แต่การดำเนินการปลดอาวุธด้วยการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงหรือผ่านขั้นตอนที่เป็นเอกฉันท์ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้โลกปราศจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นผลสำเร็จ ไปพร้อมกับสร้างบรรยากาศแห่งความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งจะส่งเสริมให้เกิดการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอื่น ๆ ของโลกไปในทางที่ดี ตามที่แถลงการณ์ระบุ [IDN-InDepthNews – 12 พฤษภาคม 2563]

ภาพประกอบจาก Pixabay

Search

Newsletter

Report & Newsletter

Toward a World Without Nuclear Weapons 2022

Scroll to Top