Nuclear Abolition News and Analysis

Reporting the underreported threat of nuclear weapens and efforts by those striving for a nuclear free world.
A project of The Non-Profit International Press Syndicate Group with IDN as flagship agency in partnership with Soka Gakkai International in consultative
status with ECOSOC.

logo_idn_top
logo_sgi_top

Watch out for our new project website https://www.nuclear-abolition.com/

About us

TOWARD A NUCLEAR FREE WORLD was first launched in 2009 with a view to raising and strengthening public awareness of the urgent need for non-proliferation and ushering in a world free of nuclear weapons. Read more

IDN Global News

Nuclear Weapons and Climate Change Threaten Human Survival – THAI

ความอยู่รอดของมนุษย์กำลังถูกคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

บทสัมภาษณ์เดวิด ครีเจอร์ โดยจอห์น เอเวอรี

ภาพถ่าย (บน): เดวิด ครีเจอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ เครดิต: NAPF

โคเปนเฮเกน | แซนตาบาร์บารา รัฐแคลิฟอร์เนีย (IDN) – การมุ่งร้าย การบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น หนึ่งใน “5ก” นี้อาจเป็นชนวนทำให้สงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้ทุกเมื่อ เดวิด ครีเจอร์ บอกกับ จอห์น สเกลส์ เอเวอรี ในบทสัมภาษณ์สุดพิเศษนี้ว่า “จากทั้ง 5ก นี้ การมุ่งร้ายคือสิ่งเดียวที่เราพอจะป้องกันได้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทว่ามันก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ และที่สำคัญ การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (ข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โต้กลับ) ก็ไม่อาจป้องกันเหตุการบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น (การแฮกระบบ) ได้เลยแม้แต่น้อย”

ครีเจอร์เป็นทั้งผู้ก่อตั้งและประธานของมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ (Nuclear Age Peace Foundation: NAPF) เขาอุทิศตนให้กับการสร้างโลกที่ปราศจากอาวุธนิวเคลียร์มาตั้งแต่ปี 1982 และยังคงมุ่งมั่นสร้างสันติภาพและยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่เอเวอรีเป็นทั้งนักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียง และยังเป็นหนึ่งในผู้ที่ออกมาเรียกร้องสันติภาพอย่างไม่ลดละ

ในบทสนทนาถามตอบนี้ เราจะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกชื่นชมที่ทั้งเอเวอรีและครีเจอร์มีให้แก่กัน ซึ่งไม่ได้ถูกคัดกรองออกแต่อย่างใด และไม่ได้มีแบบแผนในการเขียนบทความมาเป็นโซ่ตรวนจำกัดขอบเขตรูปแบบและเนื้อหาในบทสนทนานี้

ด้านล่างนี้คือข้อความทั้งหมดจากบทสัมภาษณ์ครั้งนี้

John Avery | Countercurrentsจอห์น เอเวอรี (จอห์น): ถึง คุณเดวิด ผมรู้สึกชื่นชมคุณมานานในความกล้าหาญและการอุทิศตนทั้งชีวิตให้กับงานยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่คุณกรุณาให้ผมเป็นที่ปรึกษาของมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ (NAPF) ก่อนอื่น รบกวนช่วยเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัว ชีวิตในวัยเด็ก และการศึกษาของคุณให้เราฟังสักเล็กน้อยว่าอะไรทำให้คุณกลายมาเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนให้ยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในโลก

เดวิด ครีเจอร์ (เดวิด): พวกเรารู้สึกขอบคุณที่คุณให้เกียรติมาเป็นที่ปรึกษาให้กับมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ คุณจอห์นเป็นหนึ่งในผู้ที่มีความรอบรู้มากที่สุดเท่าที่ผมรู้จักในแขนงภัยอันตรายของอาวุธนิวเคลียร์และเทคโนโลยีอื่นๆ ที่จะนำไปสู่อนาคตของสิ่งมีชีวิตบนโลก และคุณก็เขียนบอกเล่าภัยคุกคามเหล่านี้ออกมาได้อย่างเยี่ยมยอด

ในส่วนของครอบครัว ชีวิตในวัยเด็กและการศึกษา ผมเกิดในช่วง 3 ปีก่อนที่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิจะถูกอาวุธนิวเคลียร์ทำลาย คุณพ่อของผมเป็นกุมารแพทย์ ส่วนคุณแม่เป็นแม่บ้านและเป็นอาสาสมัครในโรงพยาบาล ท่านทั้งสองเชื่อมั่นในสันติภาพอย่างมาก และแสดงออกให้เห็นชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยในลัทธิทหาร

ชีวิตวัยเด็กของผมค่อนข้างจะธรรมดาทั่วไป ผมเข้าเรียนในวิทยาลัยออกซิเดนทอล ได้รับความรู้ดีๆ มากมายจากคณะศิลปศาสตร์ หลังศึกษาจบจากออกซิเดนทอล ผมมีโอกาสได้เดินทางไปญี่ปุ่นและเกิดความตระหนักเมื่อได้เห็นภาพการทำลายล้างที่ชาวฮิโรชิม่าและนางาซากิต้องเผชิญ ผมได้ตระหนักว่าตอนเราอยู่สหรัฐฯ เราได้แต่มองระเบิดเหล่านี้จากเหนือควันเห็ดและเห็นว่ามันเป็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ที่ญี่ปุ่น พวกเขาได้เห็นระเบิดลูกนี้จากใต้ควันเห็ด และมองว่ามันเป็นโศกนาฏกรรมแห่งการทำลายล้างผู้คนจำนวนมากโดยไม่แยกแยะ

หลังเดินทางกลับจากญี่ปุ่น ผมเข้าศึกษาต่อบัณฑิตวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยฮาวายจนจบปริญญาเอกสาขารัฐศาสตร์ ผมถูกเรียกเข้าเกณฑ์ทหาร แต่ในตอนนั้น ผมสามารถเลือกเข้าสังกัดทหารกองหนุนเพื่อชดเชยหน้าที่ทางทหารได้ แต่สุดท้ายก็ถูกเรียกให้เข้าปฏิบัติหน้าที่ในเวลาต่อมา

ตอนอยู่กองทัพ ผมปฏิเสธคำสั่งไปเวียดนามและยื่นขอสถานะผู้คัดค้านโดยอ้างมโนธรรม (conscientious objector) เพราะผมเชื่อว่าสงครามเวียดนามเป็นสิ่งผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ผมจึงไม่เต็มใจที่จะเข้าร่วมด้วยความรู้สึกถึงผิดชอบชั่วดี ผมยื่นเรื่องไปยังศาลสหพันธรัฐจนได้รับความเห็นชอบให้ปลดประจำการจากกองทัพได้ในที่สุด ประสบการณ์ที่ผมได้รับจากในญี่ปุ่นและในกองทัพสหรัฐฯ เป็นตัวหล่อหลอมมุมมองความคิดที่ผมมีต่อสันติภาพและอาวุธนิวเคลียร์ มันทำให้ผมเชื่อว่าสันติภาพคือสิ่งที่ขาดไม่ได้ในยุคนิวเคลียร์ และเราจะต้องยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด

จอห์น: สงครามเทอร์โมนิวเคลียร์ที่มีอำนาจทำลายทุกสรรพสิ่งกำลังเป็นภัยคุกคามทั้งต่อมนุษยชาติและชีวภาค สงครามนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งจากข้อผิดพลาดทางเทคนิคหรือของมนุษย์เอง หรืออาจเกิดจากการเพิ่มระดับอย่างควบคุมไม่ได้ของสงครามที่ใช้อาวุธรูปแบบเดิม ช่วยพูดถึงภัยคุกคามอันยิ่งใหญ่นี้สักหน่อยได้ไหมครับ

เดวิด: สงครามนิวเคลียร์อาจเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ในที่นี้ ผมอยากจะพูดถึงปัจจัย “5ก” คือ การมุ่งร้าย การบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น จากทั้ง 5ก นี้ การมุ่งร้ายคือสิ่งเดียวที่เราพอจะป้องกันได้ด้วยการป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่ทว่ามันก็ไม่ได้การันตีผลลัพธ์ และที่สำคัญ การป้องปรามด้วยอาวุธนิวเคลียร์ (ข่มขู่ว่าจะใช้อาวุธนิวเคลียร์โต้กลับ) ก็ไม่อาจป้องกันการบ้าคลั่ง การเข้าใจผิด การคำนวณพลาด และการปลุกปลั่น (การแฮกระบบ) ได้เลยแม้แต่น้อย

อย่างที่คุณชี้แนะไว้ ว่าสงครามในยุคนิวเคลียร์อาจเพิ่มระดับจนกลายเป็นสงครามนิวเคลียร์ ผมเชื่อว่าไม่ว่ามันจะเริ่มต้นอย่างไร สุดท้ายแล้ว สงครามนิวเคลียร์ก็จะกลายเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดของมนุษยชาติ และสิ่งเดียวที่จะป้องกันสงครามนี้ได้ ก็คือการยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมด โดยอาศัยการเจรจาที่มีขั้นตอนเหมาะสม ตรวจสอบได้ ไม่สามารถย้อนกลับได้ และมีความโปร่งใส

จอห์น: ช่วยอธิบายให้เราฟังได้ไหมว่าสงครามนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบต่อชั้นโอโซน อุณหภูมิของโลกและการเกษตรของเราอย่างไรบ้าง สงครามนิวเคลียร์จะก่อให้เกิดภาวะอดอยากขนาดใหญ่ได้หรือไม่

เดวิด: ตามความเข้าใจของผม สงครามนิวเคลียร์จะทำลายชั้นโอโซน ทำให้รังสีอัลตราไวโอเลตผ่านเข้ามาถึงชั้นผิวโลกได้ในระดับสูงมาก นอกจากนี้ สงครามนิวเคลียร์ยังอาจส่งผลให้อุณหภูมิลดฮวบจนทำให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำแข็งใหม่ การเกษตรจะได้รับผลกระทบจากสงครามนิวเคลียร์อย่างเห็นได้ชัดมาก

นักวิทยาศาสตร์บรรยากาศบอกกับเราว่า แค่เพียงสงครามนิวเคลียร์ “เล็กๆ” ระหว่างอินเดียกับปากีสถานที่แต่ละฝ่ายใช้อาวุธนิวเคลียร์ประมาณ 50 ลูกถล่มเมืองของอีกฝ่าย ก็ทำให้เกิดเขม่าในชั้นสตราโทสเฟียร์มากพอที่จะบดบังแสงอาทิตย์อันอบอุ่น ทำให้ฤดูการเกษตรสั้นลง และทำให้เกิดภาวะอดอยากขนาดใหญ่จนเป็นเหตุให้ผู้คนกว่า 2 พันล้านต้องเสียชีวิต สงครามนิวเคลียร์ขนาดใหญ่จะส่งผลร้ายแรงกว่านี้อีกหลายเท่า และอาจทำให้สิ่งมีชีวิตอันซับซ้อนส่วนใหญ่บนโลกต้องถูกทำลาย

จอห์น: แล้วผลกระทบของรังสีจากฝุ่นกัมมันตรังสีล่ะครับ ช่วยอธิบายให้เราฟังได้ไหมว่าการทดสอบระเบิดที่เกาะบิกินี่ส่งผลต่อผู้คนบนหมู่เกาะมาร์แชลและเกาะใกล้เคียงอย่างไรบ้าง

เดวิด: ฝุ่นรังสีนิวเคลียร์เป็นหนึ่งในอันตรายที่เด่นชัดของอาวุธนิวเคลียร์ ในช่วงปี 1946 ถึง 1958 สหรัฐฯ มีการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ในพื้นที่หมู่เกาะมาร์แชลทุกวันรวมกว่า 67 ครั้งตลอดระยะเวลา 12 ปี ระเบิดเหล่านี้มีอานุภาพทำลายล้างประมาณ 1.6 เท่าของระเบิดที่ใช้กับฮิโรชิม่า โดยการทดสอบ 23 ครั้งจากทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่เกาะปะการังบิกินี่บนหมู่เกาะมาร์แชล

การทดสอบเหล่านี้ทำให้มีสารปนเปื้อนกระจายไปทั่วทั้งหมู่เกาะและเรือประมงที่อยู่ห่างออกไปจากจุดทดสอบหลายร้อยไมล์ ปัจจุบัน เกาะบางแห่งยังคงมีสารปนเปื้อนมากเกินกว่าที่ผู้คนจะกลับไปอยู่อาศัยได้ สหรัฐฯ ปฏิบัติกับผู้คนบนหมู่เกาะมาร์แชลราวกับพวกเขาเป็นหนูทดลอง ทำให้พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบของฝุ่นรังสีนิวเคลียร์เพื่อที่จะศึกษาหาผลกระทบที่รังสีนิวเคลียร์มีต่อสุขภาพมนุษย์

จอห์น: มูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ร่วมมือกับหมู่เกาะมาร์แชลยื่นฟ้องชาติทั้งหมดที่ลงนามในสนธิสัญญาไม่แพร่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ [NPT] แต่ปัจจุบันกลับมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครอง ในข้อหาละเมิดมาตราที่ 6 ของสนธิสัญญา NPT ช่วยอธิบายได้ไหมครับว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง นายโทนี่ เดอ บรุนน์ รัฐมนตรีต่างประเทศของหมู่เกาะมาร์แชล ได้รับรางวัล Right Livelihood Award จากการมีส่วนในการยื่นฟ้องครั้งนี้ ช่วยเล่ารายละเอียดเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ไหมครับ

เดวิด: มูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ได้ปรึกษาหารือกับหมู่เกาะมาร์แชลถึงกรณีที่พวกเขายื่นฟ้องประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 (สหรัฐ รัสเซีย สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส จีน อิสราเอล อินเดีย ปากีสถาน และเกาหลีเหนือ) อย่างหาญกล้า การพิจารณาคดีที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ในกรุงเฮก ซึ่งมีการยื่นฟ้อง 5 ประเทศแรกในข้างต้นในข้อหาไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดการปลดอาวุธตามมาตรา 6 ในสนธิสัญญา เนื่องจากไม่มีการเจรจาให้ยุติการใช้กองกำลังติดอาวุธนิวเคลียร์เพื่อให้การปลดอาวุธนิวเคลียร์บรรลุผล ในขณะที่ประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์อีก 4 ประเทศซึ่งไม่ได้มีส่วนในสนธิสัญญา NPT ถูกฟ้องในข้อหาขาดการเจรจาเช่นเดียวกัน แต่เป็นภายใต้กฎหมายประเพณีระหว่างประเทศ โดยที่สหรัฐฯ ถูกฟ้องในศาลสหพันธรัฐของสหรัฐฯ เพิ่มเติมด้วย

จากทั้ง 9 ประเทศ มีเพียงสหราชอาณาจักร อินเดีย และปากีสถานที่ยอมรับในอำนาจการตัดสินของ ICJ โดยในส่วนของ 3 คดีความนี้ ศาลตัดสินว่าไม่มีข้อโต้แย้งเพียงพอระหว่างฝ่ายต่างๆ และให้ยกฟ้องโดยไม่พิจารณาสาระสำคัญในคดีความ คะแนนเสียงจากผู้พิพากษาทั้ง 16 คนใน ICJ ค่อนข้างสูสีกันมาก อย่างในกรณีของสหราชอาณาจักร คะแนนเสียงจากผู้พิพากษาแตกออกเป็น 8 ต่อ 8 คดีนี้จึงถูกตัดสินด้วยคะแนนชี้ขาดจากประธานศาลซึ่งเป็นชาวฝรั่งเศส

คดีความในศาลสหพันธรัฐของสหรัฐฯ ก็ถูกยกฟ้องก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาความถูกผิดที่แท้จริง หมู่เกาะมาร์แชลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยินดีลุกขึ้นต่อสู้กับประเทศติดอาวุธนิวเคลียร์ทั้ง 9 ในการพิจารณาคดีเหล่านี้ ภายใต้การนำอันหาญกล้าของโทนี่ เดอ บรุนน์ ผู้ที่ได้รับรางวัลมากมายจากการเป็นแกนนำในการแก้ไขปัญหานี้ ทางเราจึงรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมงานกับเขาในการพิจารณาคดีเหล่านี้ แต่เป็นที่น่าเศร้าที่คุณโทนี่เสียชีวิตไปเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

จอห์น: เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ปี 2017 ได้มีการผ่านร่างสนธิสัญญาห้ามอาวุธนิวเคลียร์ (TPNW) ด้วยคะแนนเสียงอันล้นหลามจากสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ ถือเป็นชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ในการต่อสู่เพื่อขจัดภัยทำลายล้างของอาวุธนิวเคลียร์ออกไปจากโลก ตอนนี้สนธิสัญญานี้อยู่ในขั้นใดครับ

เดวิด: ปัจจุบันสนธิสัญญายังอยู่ในขั้นลงนามและให้สัตยาบัน โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ 90 วันหลังจากประเทศที่ 50 ให้สัตยาบันหรือลงนามในสนธิสัญญา ตอนนี้ 69 ประเทศได้ลงนามเป็นที่เรียบร้อย และ 19 ประเทศได้ให้สัตยาบันหรือลงนามในสนธิสัญญาแล้ว แต่ตัวเลขนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ICAN [แคมเปญปลดอาวุธนิวเคลียร์สากลหรือ International Campaign to Abolish Nuclear Weapons] และองค์กรพันธมิตรยังคงเดินหน้าชักจูงให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมสนธิสัญญาอย่างต่อเนื่อง

จอห์น: ICAN ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพจากการเป็นแกนนำในการจัดทำสนธิสัญญา TPNW และมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ก็เป็นหนึ่งใน 468 หน่วยงานที่ร่วมกันจัดตั้ง ICAN เราจึงเรียกได้ว่าคุณเดวิดคือผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ผมเคยเสนอชื่อคุณเดวิด รวมไปถึงองค์กร NAPF ให้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพอยู่หลายครั้งทีเดียว ช่วยพูดถึงกิจกรรมต่างๆ ที่อาจทำให้คุณมีคุณสมบัติที่จะได้รับรางวัลนี้ได้ไหมครับ

เดวิด: ผมและทาง NAPF รู้สึกขอบคุณอย่างสุดซึ้งที่คุณให้เกียรติเสนอชื่อพวกเราให้เข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหลายครั้ง ผมอยากบอกว่าความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผมคือการได้ก่อตั้งและเป็นแกนนำมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ รวมไปถึงการได้มุ่งมั่นทุ่มเททำงานเพื่อสร้างสันติภาพและยุติการใช้อาวุธนิวเคลียร์ทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่อง ผมไม่รู้ว่าสิ่งนี้จะทำให้ผมมีคุณสมบัติเพียงพอสำหรับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพหรือไม่ แต่มันเป็นงานที่ดี น่านับถือ และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผมอย่างมาก นอกจากนี้ ผมยังรู้สึกว่างานที่พวกเราทำที่มูลนิธินั้น ถึงแม้จะเป็นงานในระดับสากล แต่ส่วนใหญ่แล้วจะเน้นที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศที่ทำอะไรให้คืบหน้าได้ยากเป็นพิเศษ

แต่ผมอยากจะบอกว่า ผมรู้สึกมีความสุขอย่างยิ่งที่ได้ทำงานเพื่อเป้าหมายที่มีความสำคัญต่อมนุษยชาติทั้งมวล ในระหว่างที่ทำงานนี้ ผมได้พบเจอผู้คนมากมาย รวมไปถึงคุณจอห์น ที่อุทิศตนเพื่อมนุษยชาติและสมควรได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเป็นอย่างยิ่ง มีผู้คนเก่งๆ มากมายที่มุ่งมั่นเคลื่อนไหวทางสังคมเพื่อสร้างสันติภาพและยุติการใช้นิวเคลียร์ ผมอยากจะโค้งคำนับให้กับพวกเขาทุกคน แต่ทว่าสิ่งสำคัญที่สุดคืองานที่พวกเราทำ ไม่ใช่รางวัลต่างๆ หรือแม้แต่โนเบล ถึงแม้โนเบลจะทำให้เราเป็นที่รู้จักและช่วยสนับสนุนให้เราสร้างความคืบหน้าเพิ่มเติมได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ICAN พวกเราเริ่มรวมตัวกันและทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาตลอดระยะเวลาหลายปี พวกเราจึงรู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัลนี้ร่วมกัน

จอห์น: เครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารทั่วโลกจำเป็นต้องมีเหตุปะทะร้ายแรงเพื่อสนับสนุนการของบประมาณก้อนใหญ่ ช่วยพูดถึงอันตรายจากการดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงครามสักเล็กน้อยได้ไหมครับ

เดวิด: ใช่ครับ เครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารทั่วโลกเป็นสิ่งที่อันตรายอย่างยิ่ง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การดำเนินนโยบายที่เสี่ยงต่อสงครามเท่านั้น แต่เงินทุนก้อนใหญ่ที่พวกเขาได้รับยังเป็นเงินที่ดึงมาจากกิจกรรมเพื่อสังคมที่จะนำไปสนับสนุนงานสาธารณสุข การศึกษา ที่อยู่อาศัย และการปกป้องสิ่งแวดล้อม เงินทุนที่ไหลเข้าเครือข่ายอุตสาหกรรมการทหารในหลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ จึงถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ผมเพิ่งอ่านหนังสือดีๆ เล่มหนึ่งชื่อว่า Strength through Peace เขียนโดยจูดิธ อีฟ ลิปตัน และเดวิด พี. บาราช หนังสือเล่มนี้พูดถึงคอสตาริกา ประเทศที่ยอมยกเลิกกองกำลังทางทหารตั้งแต่ปี 1948 และใช้ชีวิตอย่างสันติท่ามกลางดินแดนที่เต็มไปด้วยอันตรายนับแต่นั้นเป็นต้นมา หนังสือเล่มนี้มีชื่อรองว่า “การสร้างเขตปลอดทหารช่วยสร้างความสุขและสันติสุขให้กับคอสตาริกาได้อย่างไร และสิ่งที่นานาชาติสามารถเรียนรู้ได้จากประเทศเขตร้อนเล็กๆ แห่งนี้”

หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ดีมาก เพราะมันแสดงให้เห็นแนวทางการสร้างสันติสุขที่ดีกว่าการสร้างความแข็งแกร่งทางทหาร เรียกได้ว่าเป็นการพลิกคำกล่าวโบราณของชาวโรมันที่ว่า “หากต้องการสันติสุข จงเตรียมการทำสงคราม” แต่ตัวอย่างจากประเทศคอสตาริกากลับบอกเราว่า “หากต้องการสันติสุข จงเตรียมการสร้างสันติสุข” เพราะมันเป็นเส้นทางที่เหมาะสมและสมเหตุสมผลกว่ามากในการสร้างสันติภาพ

จอห์น: การบริหารประเทศของโดนัลด์ ทรัมป์มีส่วนทำให้เกิดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์หรือไม่

เดวิด: ผมคิดว่าตัวโดนัลด์ ทรัมป์เองมีส่วนทำให้เกิดภัยคุกคามจากสงครามนิวเคลียร์ เขาเป็นคนหลงตัวเอง เปลี่ยนใจง่าย และไม่ค่อยยอมประนีประนอม ซึ่งเป็นอุปนิสัยที่ไม่เหมาะกับผู้ที่จะมากุมบังเหียนคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ที่มีแสนยานุภาพมากที่สุดในโลก อีกทั้งเขายังห้อมล้อมไปด้วยพวก “ใช่ครับ” ที่เอาแต่บอกในสิ่งที่เขาอยากได้ยิน ยิ่งไปกว่านี้ ทรัมป์ยังดึงสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงกับอิหร่านและประกาศเจตนารมณ์ที่จะถอนตัวจากสนธิสัญญาอาวุธนิวเคลียร์พิสัยกลาง [Intermediate-Range Nuclear Forces Treaty หรือสนธิสัญญา INF] ที่เราทำกับรัสเซีย การควบคุมคลังแสงอาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ภายใต้แกนนำของทรัมป์อาจเป็นภัยที่มีโอกาสนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ได้มากที่สุดนับตั้งแต่เริ่มยุคนิวเคลียร์เลยก็ว่าได้

จอห์น: ช่วยพูดถึงเหตุไฟป่าที่กำลังเกิดขึ้นในแคลิฟอร์เนียหน่อยได้ไหมครับ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงพอๆ กับมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่

เดวิด: เหตุไฟป่าในแคลิฟอร์เนียตอนนี้เป็นเหตุการณ์ที่น่าสยดสยองที่สุดในประวัติศาสตร์ของแคลิฟอร์เนีย เหตุไฟป่าเหล่านี้เป็นอีกสิ่งที่บ่งชี้ถึงสภาวะโลกร้อน เช่นเดียวกับความร้ายแรงที่ทวีสูงขึ้นของพายุเฮอร์ริเคน ไต้ฝุ่นและเหตุการณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงพอๆ กับมหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์ มหันตภัยจากอาวุธนิวเคลียร์เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ส่วนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เรากำลังจะถึงจุดที่เราไม่มีทางหวนกลับ และโลกอันศักดิ์สิทธิ์ของเรากำลังจะกลายเป็นดินแดนที่มนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้ [IDN-InDepthNews – 9 ธันวาคม 2018]

ภาพถ่าย (บน): เดวิด ครีเจอร์ ผู้ก่อตั้งและประธานมูลนิธิสันติภาพแห่งยุคนิวเคลียร์ เครดิต: NAPF

Search

Newsletter

Report & Newsletter

Toward a World Without Nuclear Weapons 2022

Scroll to Top